Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัดศรีสะเกษ
watermark

                                                                                                                               บรรยายสรุปจังหวัดศรีสะเกษ
                                                                                                                             ---------------------------

ข้อมูลทั่วไปจังหวัดศรีสะเกษ
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
ที่ตั้งและขนาด

จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เรียกว่า อีสานใต้ห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถยนต์ประมาณ 571 กิโลเมตร ทางรถไฟประมาณ 551 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้ ทิศเหนือ เขตอำเภอราษีไศล อำเภอศิลาลาด และอำเภอยางชุมน้อย ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด ทิศใต้ เขตอำเภอขุขันธ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอกันทรลักษ์ ติดต่อกับประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ทิศตะวันออก เขตอำเภอกันทรลักษ์ อำเภอกันทรารมย์ และอำเภอโนนคูณ ติดต่อกับจังหวัดอุบลราชธานี ทิศตะวันตก เขตอำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอปรางค์กู่ อำเภอห้วยทับทัน และอำเภอบึงบูรพ์ ติดต่อกับจังหวัดสุรินทร์
ประชากร
จังหวัดศรีสะเกษ มีประชากร รวมทั้งสิ้น 1,453,360 คน เป็นชาย 722,951 คน เป็นหญิง 730,409 คน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา)
การปกครอง
จังหวัดศรีสะเกษแบ่งการปกครองออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การปกครองส่วนภูมิภาค จังหวัดศรีสะเกษแบ่งการปกครองออกเป็น 22 อำเภอ 206 ตำบล 2,633 หมู่บ้าน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2565)
2. การปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดศรีสะเกษแบ่งการปกครองออกเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 2 แห่ง เทศบาลตำบล 35 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 179 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2565)
พื้นที่ ลักษณะภูมิประเทศเเละภูมิอากาศ
1) พื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ประมาณ 8,839.90 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,524,987.5 ไร่
2) ภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงสลับทุ่งนามีภูเขาและป่าไม้อยู่ทางตอนใต้ และพื้นที่จะค่อย ๆ ลาดลงสู่ทิศเหนือและทิศตะวันตก ซึ่งเต็มไปด้วย ห้วย คลอง หนอง บึง ต่าง ๆ ตลอดระยะทางที่ลำน้ำมูลและลำน้ำชีไหลผ่าน สภาพดินร้อยละ 60 เป็นลักษณะดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดีแต่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และมีแนวชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา ประมาณ 127 กม. (อำเภอกันทรลักษ์ 76 กม. อำเภอขุนหาญ 18 กม. และอำเภอภูสิงห์ 33 กม.)
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
ทรัพยากรป่าไม้

สภาพพื้นที่ป่าไม้โดยทั่วไปของจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นป่าบนพื้นราบ จึงทำให้ราษฎรที่ต้องการพื้นที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เพื่อการเกษตรเข้าไปหักร้างถางพง ทำให้ป่ามีสภาพเสื่อมโทรมอยู่โดยทั่วไป ขณะนี้ยังคงมีสภาพป่าที่สมบูรณ์ในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น บริเวณติดแนวชายแดนประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย และบริเวณเทือกเขา เป็นต้นทั้งนี้จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ป่าไม้ 2,136.24 ตารางกิโลเมตร (1,366,444 ไร่) แบ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ 25 แห่ง เนื้อที่ 2,038.83 ตารางกิโลเมตร (1,274,312 ไร่) และป่าไม้ถาวรเตรียมการสงวน 4 แห่ง จำนวน 147.41 ตารางกิโลเมตร หรือ 92,132 ไร่ เมื่อพิจารณาเฉพาะพื้นที่ป่าที่ยังคงสภาพป่าที่สมบูรณ์มีจำนวน 678,911.41 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 12.16 ของเนื้อที่จังหวัด โดยป่าไม้ในจังหวัดศรีสะเกษจำแนกได้ 3 ประเภทได้ ดังนี้
1. ป่าอนุรักษ์ จำนวน 755 ตารางกิโลเมตร หรือ 471,875 ไร่
1.1 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ท้องที่อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ มีเนื้อที่ 316 ตารางกิโลเมตร (197,500 ไร่
1.2 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา ท้องที่อำเภอขุนหาญ อำเภอขุขันธ์ และอำเภอภูสิงห์ มีเนื้อที่ 380.6 ตารางกิโลเมตร (237,875 ไร่)
1.3 อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ 59 ตารางกิโลเมตร (36,875 ไร่)
2. ป่าชุมชน ซึ่งจะมีพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าเตรียมการ มีเนื้อที่ 201.22ตารางกิโลเมตร (36,875 ไร่)
3. ป่าเศรษฐกิจ (Zone E) มีเนื้อที่ 1,303.64 ตารางกิโลเมตร (814,778 ไร่)
3.1 พื้นที่ป่ามีภาระผูกพัน (สวนป่า และพื้นที่สิทธิทำกินในพื้นที่เขตป่าสงวนและเป็นป่าไม้เสื่อมโทรม) จำนวน 177.93 ตารางกิโลเมตร (111,206 ไร่)
3.2 พื้นที่ที่มอบให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร จำนวน 761.86 ตารางกิโลเมตร (703,572 ไร่) อัตราส่วนทรัพยากรป่าไม้ต่อพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ในปี 2559 คิดเป็นร้อยละ 12.56 ต่อพื้นที่ 4,945.149 ไร่ ทั้งนี้ลักษณะทั่วไปของป่าไม้ที่พบในจังหวัดศรีสะเกษ จำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
ป่าแดง หรือป่าโคก ป่าแพะ หรือป่าเต็ง รังมีลักษณะเป็นป่าโปร่งสลับกับพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นทุ่งหญ้า มีต้นไม้ขึ้นห่าง ๆ กัน พืชธรรมชาติในป่าไม้ประเภทนี้ ได้แก่ หญ้าคา ไม้ไผ่ หญ้าเพ็ก ไม้พลวงไม้สกุลยางไม้เหียง ไม้สะแบง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า ไม้แต้ ต้นน้ำเกลี้ยงไม้จะบกไม้ตะเคียน ซึ่งไม้ตะเคียนในจังหวัดศรีสะเกษ ในอดีตมีชื่อเสียงมากที่สุดว่าเป็นไม้ตะเคียนชั้นดี ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว
ไม้เบญจพรรณ ได้แก่ ไผ่ป่า ไม้รวก สีเสียด ตะเคียนหมู ราชพฤกษ์ รกฟ้า เสลา ประดู่ ชิงชัน มะค่าโมงพะยูงแกลบ มะเกลือ ก้านเหลือง ยางเสี้ยน ตะแบกใหญ่
ป่าบุ่ง ป่าทาม เป็นป่าในที่ลุ่มริมฝั่งน้ำ มีน้ำท่วมขังในฤดูฝนต้นไม้ที่เกิดในป่าบุ่งป่าทามเป็นต้นไม้ที่ทนทานต่อการถูกน้ำท่วม เช่น ต้นหัวลิง ต้นกล้วยน้อย ต้นเดือยไก่ ต้นโคยลิง ต้นเสียว ต้นนมวัว ต้นผักแสง ต้นตะเคียน ต้นกระเบา ต้นหว้า ผักกระโดนน้ำ ผักกระโดนทุ่ง หรือกระโดนเตี้ย และหญ้าแฝก
ทรัพยากรน้ำ
จังหวัดศรีสะเกษ มีแหล่งน้ำที่สำคัญและมีผลต่อกิจกรรมการเกษตร การประมง ได้แก่ แม่น้ำมูล ห้วยทับทัน ห้วยสำราญ ห้วยศาลา บึงและหนองน้ำธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ส่วนมากทางตอนเหนือของจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอราษีไศล อำเภอยางชุมน้อย และอำเภอเมืองศรีสะเกษ
แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ
1. แม่น้ำมูล มีต้นกำเนิดและไหลจากจังหวัดนครราชสี มาเข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอราษีไศล ซึ่งเป็นที่บรรจบของลำน้ำเสียวที่หัวภูดิน อำเภอราศีไศล เรียกกันว่า วังใหญ่ ผ่านพื้นที่อำเภอราษีไศล อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอยางชุมน้อย และอำเภอกันทรารมย์ แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำชีที่จังหวัดอุบลราชธานี
2. ห้วยทับทัน ต้นลำธารที่เทือกเขาพนมดงเร็ก บริเวณเขตพื้นที่อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดสุรินทร์กับจังหวัดศรีสะเกษ ในเขตอำเภอห้วยทับทัน อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ อำเภอบึงบูรพ์ ไหลลงลำน้ำมูลที่บ้านห้วย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
3. ห้วยสำราญ ไหลมาจากเขตอำเภอภูสิงห์ อำเภอขุขันธ์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอวังหิน อำเภออุทุมพรพิสัย แล้วไหลลงสู่แม่น้ำมูล ที่เขตอำเภอเมืองศรีสะเกษ มีความยาวประมาณ 210 กิโลเมตร และมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,417 ตารางกิโลเมตร
4. ห้วยศาลา เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ดัดแปลงทำเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำที่ไหลมาจากห้วยสำราญ และมีต้นน้ำจากห้วยพนมดงรัก สามารถบรรจุน้ำได้สูงสุด 52.5 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ทำการชลประทาน จำนวน 20,400 ไร่ มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคตลอดปี
5. ห้วยขะยุง ต้นลำธารที่เทือกเขาพนมดงเร็ก มีน้ำตกภูลออที่สวยงามไหลผ่าน อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอเบญจลักษ์ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอโนนคูณ และอำเภอกันทรารมย์ ไหลลงแม่น้ำมูล ระหว่างรอยต่อจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี มีความยาวลำน้ำประมาณ 175 กิโลเมตร โดยมีห้วยทาเป็นลำน้ำสาขามีความยาวประมาณ 160 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 3,347 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติประมาณปีละ 1,466 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 7.53 ของปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติทั้งหมดของลุ่มน้ำมูล
6. ลำน้ำเสียว หรือลำเสียวใหญ่ มีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงสันปันน้ำระหว่างลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชีที่จังหวัดมหาสารคาม มีลำน้ำสาขา คือ ลำเตา ลำเสียวใหญ่ และลำเสียวน้อย ไหลมาบรรจบกันเป็นลำเสียวใหญ่ ที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จากนั้นไหลผ่านอำเภอศิลาลาด อำเภอราษีไศล ไหลลง แม่น้ำมูลที่ภูดิน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
7. ลำน้ำห้วยทา มีต้นกำเนิดจาดเทือกเขาพนมดงเร็ก อำเภอขุนหาญ ไหลผ่านอำเภอไพรบึง อำเภอศรีรัตนะ อำเภอพยุห์ อำเภอน้ำเกลี้ยง ไหลบรรจบแม่น้ำมูลที่อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ
แหล่งน้ำอื่นๆ
แหล่งน้ำใต้ดิน จำนวน 65,223 แห่ง แบ่งเป็นบ่อบาดาล 9,409 บ่อ และบ่อน้ำตื้น 55,814 บ่อ
ระบบประปา มีจำนวนหมู่บ้านที่ประปาใช้การได้ 1,110 แห่ง (ร้อยละ 42.27) ต้องปรับปรุง 829 แห่ง (ร้อยละ 31.57) และยังไม่มีประปา 687 หมู่บ้าน (ร้อยละ 26.16)
สระน้ำในไร่นา จำนวน 4,715 แห่ง พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 23,575 ไร่
ข้อมูลแหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน
แหล่งน้ำเพื่อการชลประทานในจังหวัดศรีสะเกษ ที่มีขนาดใหญ่มี 2 แห่ง ได้แก่
1. เขื่อนราษีไศล เป็นเขื่อนปิดกั้นลำน้ำมูลที่บ้านปากห้วย ตำบลบัวทุ่ง อำเภอราษีไศล ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2536 เป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดบานประตูระบายเหล็กโค้ง มีพื้นที่รับน้ำฝน 44,275 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยไหลเข้าหน้าฝายปีละ 3,254 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาตรเก็บกักน้ำหน้าฝาย 75 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับเก็บกัก 119.00 ม.รทก. มีพื้นที่รับประโยชน์ระยะแรก 34,420 ไร่
2. เขื่อนหัวนา เป็นเขื่อนปิดกั้นลำน้ำมูลที่บ้านกอก อำเภอกันทรารมย์ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2544 เป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก ชนิดบานประตูระบายเหล็กโค้ง มีพื้นที่รับน้ำฝน 53,184 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยไหลเข้าหน้าฝายปีละ 9,195 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาตรเก็บกักน้ำหน้าฝาย 115.60 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับเก็บกัก 115 ม.รทก. มีพื้นที่รับประโยชน์ระยะแรก 77,000 ไร่
สภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัด
ภาพรวมโครงสร้างเศรษฐกิจจังหวัดศรีสะเกษ พิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ปี 2564 มีมูลค่าการผลิต 78,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,177 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมา เป็นลำดับที่ 38 ของประเทศ ลำดับที่ 8 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลำดับที่ 2 ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดศรีสะเกษต่อประชากร (Gross Provincial Products Per Capita) เท่ากับ 83,332 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 2,253 บาทจากปีที่ผ่านมา เป็นลำดับที่ 57 ของประเทศ ลำดับที่ 8 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลำดับที่ 1 ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2
อัตราการเจริญเติบโต ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ขยายตัวร้อยละ 1.67 อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 5 ปี (Long – term Growth) ขยายตัวร้อยละ 1.54
โครงสร้างการผลิต ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดศรีสะเกษ ปี 2564 พิจารณาจากสัดส่วนมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาประจำปี แบ่งเป็น ภาคเกษตร มีมูลค่า 21,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.71 ภาคนอกเกษตร มีมูลค่า 56,858 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.29
ที่มา : แผนพัฒนาจังหวัด พ.ศ. 2566-2570 (ฉบับทบทวน ปี พ.ศ.2567) จังหวัดศรีสะเกษ


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 86,612